สาโท และ เหล้าขาว ต่างกันยังไง

ความแตกต่างของสาโท และเหล้าขาว รสชาติจากวัตถุดิบเดียวแต่ขั้นตอนต่างกัน

หลายคนจะคิดว่า สาโท อุ น้ำขาว และเหล้าขาว คือสิ่งเดียวๆกันไปหมด แต่จริงๆ แล้วมีความต่างกันอยู่เยอะมาก

สาโทจะมีความคล้ายกับข้าวหมากมากกว่า เพราะในกระบวนการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไวน์ เบียร์ หรือสาโทนั้น เราต้องการน้ำตาลเพื่อให้เกิดเป็นอาหารแก่ยีสต์ และยีสต์จะสร้างแอลกอฮอล์ให้เกิดขึ้น ช่วยถนอมให้เครื่องดื่มไม่บูดหรือเสียไปก่อน ในยุคสมัยก่อนที่น้ำตาลไม่ได้มีขายเป็นถุงทั่วไปตามร้านค้า การจะทำให้เกิดน้ำตาลนั้นค่อนข้างซับซ้อน อย่างทางยุโรปเหนือ มอลต์นั้นก็ใช้วิธีทำให้เมล็ดข้าวบาร์เลย์(ข้าวสายพันธุ์หนึ่ง การมอลต์นั้นคือกรรมวิธีไม่ใช่สายพันธุ์) เตรียมเกิดการงอก เพราะจะมีการเปลี่ยนแป้งในเมล็ดให้เป็นน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงานในการงอกต่อไป แล้วจึงเอามาบดและสกัดออกมา ในละแวกเอเชียตะวันออกที่มีการปลูกข้าว เราจะใช้การใส่ลูกแป้ง ซึ่งเป็นส่วนผสมของเชื้อราประเภทที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ (โคจิของญี่ปุ่นก็เป็นเชื้อราประเภทนึงเหมือนกัน นูรุกของเกาหลีก็เป็นเชื้อราเช่นเดียวกัน) มาผสมเข้ากับข้าวที่หุงให้สุก เพื่อให้เชื้อราช่วยเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล

และเมื่อเชื้อราเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลแล้วจะเกิดเป็นน้ำหวานขึ้นมา ถ้าเราตักมาทานเลยก็คือ ‘น้ำข้าวหมาก’ นั่นเอง แต่ถ้าเราปล่อยให้ยีสต์เริ่มกินน้ำข้าวหมากไปเรื่อยๆ ก็จะกลายมาเป็น ‘สาโท’ ที่มีรสชาติละมุน เพราะการผลิตมีแค่การหมักอย่างเดียว (ชื่อเรียกในภาษาไทยคือ ‘สุราแช่’) แอลกอฮอล์ไม่สูงมาก อาจจะแค่ 5-13 ดีกรี(คล้ายเบียร์ สาเก หรือไวน์องุ่น) ส่วนอุก็ตั้งต้นคล้ายกันแต่มีการใส่แกลบลงไปด้วยและหมักในไห ทำให้กลิ่นรสแตกต่างจากสาโท

ส่วนเหล้าขาวก็มักจะเอาสาโทมากลั่นต่อ (ภาษาทางเทคนิคเรียกว่า ‘สุรากลั่น’) เพื่อเอาน้ำส่วนเกินออกไป ทำให้แอลกอฮอล์สูงขึ้นถึง 30-40 ดีกรี ทางยุโรปก็มีการทำคล้ายๆกันเหมือนกัน คือถ้าเอาเบียร์ไปกลั่นจะกลายเป็นวิสกี้(แต่ต้องนำไปบ่มต่ออีกตามสูตรของแต่ละผู้ผลิต) ไวน์องุ่นถ้าเอาไปกลั่นจะได้เป็นคอนยัคหรือบรั่นดี

หวังว่าทุกคนจะเข้าใจความต่างของสาโทและเหล้าขาวนะครับ


Mead (หมีด) คืออะไร ?